เมื่อ 30 เม.ย.68 พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 เป็นประธานเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานลาดตระเวนและดับไฟป่า ในพื้นที่ 12 กลุ่มป่า พร้อมมอบเครื่องเป่าลมเพื่อสนับสนุนกำลังพลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ประจำปี 2568 โดยมี พลตรี ชายแดน กฤษณสุวรรณ รองแม่ทัพภาคที่ 3/รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า, นายปิยะพงษ์ ประพันธ์วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่, นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16, พันเอก บรรจง คะวงศ์ดอน ผู้ช่วยเลขานุการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วย พระอาจารย์เอกชัย สิริญาโณ เจ้าอาวาสวัดใหม่ศรีร่มเย็น อ.เชียงของ จ.เชียงราย ให้การสนับสนุนเครื่องเป่าลมจำนวน 173 เครื่องเข้าร่วม ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า เผยผลแก้ปัญหาไฟป่า-หมอกควันเหนือ ปี 2568 สามารถลดจุดความร้อนลงร้อยละ 19 แต่พื้นที่เผาไหม้ยังพุ่งสูงกว่า 1.5 ล้านไร่ ทั้งนี้ได้มอบเครื่องเป่าลมในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของกำลังพลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างต่อเนื่อง พร้อมสรุปผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 ถึง 28 เมษายน 2568 ซึ่งมีตัวชี้วัด 3 ด้านประกอบด้วย สถานการณ์ด้านจุดความร้อนลดลงจากปี 2567 จำนวน 13,858 จุด คิดเป็นร้อยละ 19.54 แต่ยังมี 9 จังหวัด ที่แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก และจังหวัดอุตรดิตถ์ จุดความร้อนที่พบรวม 57,079 จุด ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 24,107 จุด และป่าสงวนแห่งชาติ 22,581 จุด ซึ่งยังสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ว่าในพื้นที่ป่าจะลดลงให้ได้ร้อยละ 25 ขณะที่พื้นที่เกษตร เช่น นาข้าว ข้าวโพด และอ้อย ต้องลดลงร้อยละ 30 พบว่าพื้นที่ป่าและนาข้าวยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์ด้านพื้นที่เผาไหม้ ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 30 มีนาคม 2568 พบว่ามีพื้นที่ถูกไฟเผาไปแล้วถึง 8,680,870 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ถึง 1,505,490 ไร่ หรือร้อยละ 17.34 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดตาก จังหวัดนครสวรรค์ และ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งพื้นที่เกษตรและเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 90.34 และ 53.22 ตามลำดับ สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ยังน่าเป็นห่วง โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีค่าเฉลี่ยสูงสุดถึง 304.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเกินค่ามาตรฐานติดต่อกันเกิน 9 วัน ทั้งนี้ จังหวัดน่านมีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานสูงมากที่สุด 121 วัน รองลงมาคือ จังหวัดพิษณุโลก 94 วัน และจังหวัดอุทัยธานี 88 วัน ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า ได้บูรณาการกำลังพลโดย กองทัพภาคที่ 3 ออกปฏิบัติการรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกและทำลายพื้นที่ป่าไม้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ไปจำนวน 885 ครั้ง และได้จัดชุดลาดตระเวน ออกลาดตระเวน สร้างการรับรู้ ปลูกจิตสำนึก และดับไฟป่า ร่วมกับกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 12 กลุ่มป่าหลัก 73 ป่าย่อย จำนวน 208 ชุด รวม 1,070 นาย ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม รวมถึงการปรับแผนการฝึกตามวงรอบประจำปีในพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซากไปจำนวน 17,892 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการใช้กลไกของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ปฏิบัติการด้านการดับไฟไหม้-ไฟป่า การรณรงค์สร้างการรับรู้ การลาดตระเวนป้องการเผาป่า การทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า การบังคับใช้กฎหมาย การสร้างฝายชะลอน้ำ การใช้อากาศยานดับไฟป่า และผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ ไปจำนวน 36,630 ครั้ง สำหรับด้านการใช้อากาศยาน ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า ได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่า 4 รูปแบบ ประกอบด้วย

1. ระบบ Sensor หรือการลาดตระเวน โดยใช้อากาศยานของกองทัพอากาศ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4 ลำ บินลาดตระเวนค้นหากลุ่มจุดความร้อนในพื้นที่ป่าภาคเหนือ และป่ารอยต่อระหว่างจังหวัดไป 65 เที่ยวบิน

2. ระบบ Shooter หรือดับไฟป่า ใช้อากาศยานของกองทัพบก, กองทัพอากาศ, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวม 8 ลำ บินทิ้งน้ำ ไป 2,297 เที่ยว ปริมาณ 2,341,000 ลิตร

3. ระบบ Sensor เพื่อตรวจจับจุดความร้อน 65 เที่ยวบิน

4. ระบบ Inversion หรือการดัดแปรสภาพอากาศจากกรมฝนหลวงกว่า 700 เที่ยวบิน รวมถึงการเฝ้าระวังด้วยโดรน IR รุ่น Matrice 300 ที่บินตรวจการณ์ในพื้นที่เชียงใหม่ 74 ครั้งด้วย

แม่ทัพภาคที่ 3 ย้ำว่าการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ต้องดำเนินต่อเนื่องควบคู่กันไป ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างจิตสำนึก และการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อเป้าหมายการลดไฟป่าอย่างยั่งยืนในภาคเหนือ ซึ่งจากผลสำเร็จใจการปฏิบัติงานในปีนี้จะนำไปถอดบทเรียนและปรับใช้ในปีต่อไป